ความเชื่อถือของคนล้านนาในพิธีศพพระเถระ


วัฒนธรรมของคนล้านนาเกี่ยวกับพิธีศพนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิตของคนเมืองมานานนับหลายร้อยปี เมื่อมีคนตายจะต้องจัดงานศพขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัย แก่คนตายอย่างสมเกียรติ พิธีศพของคนล้านนาจะแตกต่างจากภาคอื่น คือการจัดแต่งปราสาทศพ ประดับประดาด้วยดอกไม้สดหรือแห้ง หลอดไฟระยิบระยับให้ดูแลสวยงาม สำหรับนัยว่าเพื่อเป็นการยกย่องผู้ตายให้ขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า
พิธีศพของพระเถระผู้สูงด้วยวัยวุฒิและทรงสมณศักดิ์ จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ปราสาทใส่ศพของพระเถระชาวล้านนาจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปราสาทศพของบรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ ตามคติความเชื่อโบราณของคนล้านนา พระเถระและเจ้านายได้รับการยกย่องในสังคมว่าเป็นชนชั้นสูง เมื่อมรณภาพหรือสิ้นชีพไปแล้ว จะไปจุติในภพที่สูงกว่า หรือเป็นเทพสถิตในสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ บนเขาพระสุเมรุ อันเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ผสมกัน
ตามประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณ งานศพของพระสงฆ์จะมีการทำบุญทำทานกันอย่างใหญ่โต มีมหรสพและการละเล่น เพื่อลดความวังเวงหรือโศกเศร้า โดยเฉพาะปราสาทศพ ได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามอลังการ ซึ่งทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ ถือว่าเป็นพาหนะของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เท่านั้น
การประดับประดาปราสาทศพของพระ ดูจะหรูหลาและใหญ่โตมากกว่าของคนทั่วไป โดยเฉพาะพระที่มีอายุพรรษามากๆ หรือพระที่ทรงสมณศักดิ์ชั้นสูงๆ เป็นที่เคารพนับถือของศรัทธาสาธุชน ก็จะจัดงานยิ่งใหญ่มากขึ้น จะนิยมเก็บศพไว้จนถึงหน้าแล้ง หรือช่วงที่ไม่มีฝนตก ราวเดือน พฤศจิกายน – เมษายน การสร้างเมรุศพนั้นประกอบด้วยไม้จิงเป็นพื้น มีฐานตั้งอยู่บนนกหัสดีลิงค์ ศรัทธาชาวบ้านจะชักลากไปสู่ฌาปนสถาน มีฆ้องกลองแห่ตามขบวน มีคนตีกังสดาล (ปาน) เดินไปตีไปตามขบวนจนกว่าจะถึงฌาปนสถาน
ที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ ปราสาทนกหัสดีลิงค์ของศพพระสงฆ์จะมีเสาไม้ไผ่ขนาดใหญ่ สูง (ไม้ซาง) 4 ต้น ปัก 4 มุมของปราสาท ข้างบนใช้ผ้าจีวรหรือผ้าสังฆาฏิของผู้มรณภาพขึงเป็นเพดาน นักปราชญ์โบราณท่านกล่าวว่า มีความหมายหลายประการ
ประการที่ 1 สมัยโบราณ ไม่มีถนนหนทาง ภูมิประเทศเป็นป่าเขารกทึบ ต้นไม้สูง ที่ทำไว้เช่นก็เพื่อให้ผู้เดินทางไปร่วมงานเห็นเด่นชัด ดังเช่นเราเห็นป้ายสถานีบริการน้ำมันในปัจจุบัน
ประการที่ 2 นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า ร่างกายของคนเราประกอบขึ้นด้วยธาตุ 4 มี ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแตกสลายไปในที่สุด เพื่อให้ผู้ร่วมงานนำไปคิดปลงอนิจจัง เมื่อคราวตายมาถึงตนเอง
ประการที่ 3 เป็นเครื่องหมายแสดงว่า พระสงฆ์เป็นผู้ประกอบด้วยจตุรปาริสุทธิศีล (ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ 4 อย่าง) มีสำรวมในพระปาฏิโมกข์, สำรวมในอินทรีย์ ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, เลี้ยงชีพในทางที่ชอบและการพิจารณาก่อนบริโภคปัจจัย 4 คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
สำหรับวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง หรือบริเวณทุ่งนาที่อยู่ใกล้วัด จะทำปราสาทนกหัสดีลิงค์ไว้ในบริเวณนั้น เผาตรงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันฌาปนกิจศพ หรือพระราชทานเพลิงศพ จะมีศรัทธาประชาชนผู้ที่เคารพนับถือมาร่วมทำบุญอย่างมากมาย ผู้มีจิตศรัทธานำน้ำดื่ม อาหาร ของหวาน ตั้งโรงทานเลี้ยงผู้มาร่วมงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ชาวล้านนาถือว่า การมีส่วนร่วมในงานศพของพระเถระจะได้บุญกุศลมาก เป็นวัฒนธรรมความเชื่อถือที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งไม่มีชนกลุ่มใดของประเทศเสมอเหมือน นอกจากบนผืนแผ่นดินล้านนานี้เท่านั้น

Share this

Related Posts

Previous
Next Post »